【阿公 - 阿嬷】 “อากง อาม่า" คำนี้มาจากไหน จากจีนกลางหรือเปล่า ?

【阿公 - 阿嬷】 “อากง อาม่า" คำนี้มาจากไหน จากจีนกลางหรือเปล่า ?
Photo by zhang kaiyv / Unsplash

อากง ในสมัยโบราณคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกพ่อ และเป็นคำเรียกผู้สูงอายุเพศชายในรูปของการให้ความเคารพรูปแบบหนึ่ง ดังปรากฎให้เห็นในหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน เรื่อง ซ้องกั๋ง 《水浒传.第二十一回》ในบทที่ว่า:「阿公休怪。不是我说谎。只道金子在招文袋里,不想出来得忙,忘了在家。」

ส่วนในด้านของภาษาถิ่น ภาษาฮกเกี้ยน 闽南话 ภาษาหมิ่นผูเซียน莆仙话(ภาษาจีนหมิ่น ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต) จะหมายถึงปู่(พ่อของพ่อ) เช่นเดียวกับภาษาแต้จิ๋ว潮州话และภาษาจีนแคะ 客家话 ที่นิยมเรียกปู่และยาเป็น อากง อาม่า

นอกจากอากงจะหมายถึงปู่แล้ว ยังมีชาวจีนที่ใช้ภาษาถิ่นกั้น (ภาษาถิ่นเจียงซี คือหนึ่งในภาษาของตระกูลกลุ่มภาษาจีน มีผู้พูด 31 ล้านคนในมณฑลหูหนาน เสฉวน มณฑลหูหนาน และมณฑลเจียงซี) นิยมเรียกตา(พ่อของแม่)ว่าอากง

อีกทั้งอากงนี้ยังเป็นคำที่ผู้หญิงใช้เรียกพ่อของสามีเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอีกด้วยไต้หวันยังคงใช้คำว่าอากงและอาม่า โดย อากง จะสามารถใช้ได้ทั้ง ปู่(พ่อของพ่อ) และ ตา(พ่อของแม่) และอาม่า จะหมายถึง ย่า(แม่ของพ่อ) และ ยาย(แม่ของแม่) และยังคงใช้คำนี้ในการกล่าวแสดงความเคารพในการเรียกถึงผู้สูงอายุอีกด้วย

ถ้าถามว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่ยังใช้คำเรียกอากง อาม่าไหมก็คงต้องตอบว่าไม่ คนจีนแผ่นดินใหญ่จะเรียกปู่และย่าว่า 爷爷เย๋เย่ และ 奶奶 หน่ายนาย ตามลำดับ ปัจจุบัน คำว่าอากงและอาม่านี้ยังคงใช้อยู่ในไต้หวัน และท้องถิ่นอื่นๆของจีนที่ใช้ภาษาถิ่นที่กล่าวมาในการสื่อสารข้างต้น ดั่งเช่นประเทศไทย ที่เป็นแหล่งของชาวจีนอพยพ ทั้งชาวแต้จิ๋ว ชาวฮกเกี้ยน หรือแม้กระทั่งจีนแคะ ที่อพยพมาสู่ประเทศไทยจนเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยและถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของไทย ตกทอดภาษามาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นเรื่องคุ้นชินในสังคมไทย ที่เรามักจะได้ยินคำเรียก "อากง อาม่า" จากกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายจีนในไทย

ภูมิรพี แซ่ตั้ง
19 เมษายน 2561

参考资料
https://baike.baidu.com/item/阿公
https://baike.baidu.com/item/阿嬷
https://zhidao.baidu.com/question/71208365.html
https://baike.baidu.com/item/赣语/
https://zhidao.baidu.com/question/71208365.html