สภาพแวดล้อมกับการเรียนรู้—— ทบทวนอดีต และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง

สภาพแวดล้อมกับการเรียนรู้—— ทบทวนอดีต และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง
Photo by Hudson Hintze / Unsplash

สภาพแวดล้อมกับการเรียนรู้—— ทบทวนอดีต และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลง

.

อยากเรียนภาษาเก่ง ต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ

อยากเรียนอังกฤษเก่ง ต้องไปเรียนกับต่างชาติ

อยากเรียนจีนเก่ง ต้องไปเมืองจีน ไปเรียนที่จีน

.

เป็นคำที่เรามักได้ยินบ่อย เวลาไปถามความคิดเห็นของใคร ๆ 

จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญนะ

สภาพแวดล้อม มีผลต่อพฤติกรรม การเรียนรู้ของเราพอสมควร

อ่านหนังสือในห้องสมุด กับการอ่านหนังสือบนเตียง หรือ

การอ่านหนังสือในห้องรก ๆ กับการอ่านหนังสือท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี

ความแต่งต่างของสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่สำคัญต่อที่สุดต่อกระบวนการเรียนรู้

.

เรื่องเล่าของจีนเรื่องหนึ่ง.

หากใครเคยได้เห็นในคัมภีร์ไตรอักษร《三字經》ของจีนที่ให้เด็ก ๆ ท่อง

จะเห็นฉากหนึ่งที่พูดถึงเรื่องราวของแม่ของเมิ่งจื่อ (孟子) นักปรัชญาชาวจีน

ที่ย้ายบ้านถึง 3 ครั้ง เพื่อที่จะหาสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมิ่งจื่อ 

เพื่อที่จะให้ลูกชาย ได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการศึกษา ซึ่งสิ่งนี้เอง

เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เมิ่งจื่อ ได้กลายมาเป็นนักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งของจีน

孟母三遷 เรื่องนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวที่เก่าแล้ว 

แต่ยังคงเป็นข้อคิดที่ทำให้เราได้หวนคิด และพิจารณาตัวเราในปัจจุบันได้

.

ขงจื่อบอกว่า 溫故而知新,可以為師矣。

ถ้าหมั่นทบทวนความรู้เดิม ๆ แล้วสามารถตระหนักถึงความคิดใหม่ได้ แค่นี้ก็สามารถเป็นครูอาจารย์ได้แล้ว

มันทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวหนึ่ง

การอ่านหนังสือเล่มเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อ่านกี่รอบเนื้อหาก็เหมือนเดิม

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ มุมมองที่เรามีต่อมัน

เมื่อเราโตขึ้น ความรู้ที่เราได้ศึกษามาจะกลับมาดูแลเรา...

.

การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด 學無止境 

เรียน เรียน เรียน เรียนเพื่อหาความหมายของชีวิต...

.

เรียนอย่างไร ถึงจะได้ผลดี ?

.

เรียนในสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง

เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน

ถูกที่ ถูกเวลา และทำมันด้วยใจที่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมัน

.

เช่นฉัน เรียนจีน...

สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนภาษาจีน

ชอบดูหนังจีน เปาบุ้นจิ้น อุ้ยเสี่ยวป้อ ชอบอ่านนิยายจีนของ โกวเล้ง กิมย้ง

เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวแล้วมันจะเป็นเรื่องที่ไม่ยาก

.

การเรียนรู้นอกจากสภาพแวดล้อมที่ถูกแล้ว

วิธีการเรียนยังเป็นสิ่งที่สำคัญ

.

ความเป็นครู อาจารย์ สิ่งที่ต้องทำก็คือการบอกทางให้แก่ลูกศิษย์

ครูต้องบอกวิธีการข้ามฝั่งให้กับนักเรียน ไม่ใช่พานักเรียนข้ามไปให้ถึงฝั่ง

ครูไม่จำเป็นต้องป้อนทุกอย่างให้แก่นักเรียน หากแต่ครูเป็นผู้ชี้แนะนักเรียน

ให้เขามีทักษะกระบวนการคิด คิดเป็น วิเคราะห์ได้ 

คิดอย่างมีเหตุผล และเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง

.

เราผ่านอะไรมาก่อนแล้ว เราเรียนรู้อะไรมา นั้นคือประสบการณ์

ประสบการณ์ที่มากกว่า ย่อมดีกว่า 

แต่ทว่า ประสบการณ์นั้น มันทันสมัยหรือล้าหลัง ?

ครูที่ดี ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกศิษย์ 

บนโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจอีกเยอะ...

.

ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนควรถูกลดลง...

ครูไม่ควรทำให้นักเรียนรู้สึกถึงความกดดันและกลัว

อันจะเป็นการทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กต้องถูกกดทับ

.

เด็กกลัว กลัวว่าตัวเองตอบ ตัวเองพูด แล้วจะโดนด่า

ตอบผิด โดนด่า ขายหน้า น่าอาย สภาพแวดล้อมทางการเรียนแบบนี้

ส่งผลต่อเด็กเป็นอย่างมาก

สภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้

เป็นเรื่องที่เราต้องย้อนกลับมาคิดถึงปัญหาของการศึกษา

.

เรามักจะเห็นเด็ก ๆ รุ่นใหม่มากมายที่บอกว่า

เรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่ได้ใช้

คำพูดนี้ ดูเหมือนว่าเป็นคำพูดที่แสดงความขี้เกียจเรียนของเด็ก

หรือข้ออ้าง ตามประสาเด็ก ต่าง ๆ นา ๆ

แต่หารู้ไม่ นี่แหละเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาสำคัญของการศึกษา

.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ฉันได้เรียนตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้

มันสามารถนำมาใช้ได้จริง ๆ ไม่มากก็น้อย

ถึงแม้ว่างบางอย่างจะหลงลืมไปบ้าง

แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลือคือ ทักษะ กระบวนการคิด

การเรียนที่ดี ไม่ใช่การป้อนข้อมูล หรือรับข้อมูลในปริมาณมาก

สิ่งสำคัญคือการตกตะกอนของความรู้ที่เรียน

เรียนแล้วได้อะไร ?

.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องจำยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเข้ามาศึกษาในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ เอก

ที่ต้องเขียนบทความเชิงวิทยาการต่าง ๆ 

แต่มันก็ต้องทำให้เราย้อนกลับมาถามว่า

เราต้องจำอย่างไรให้ถูกต้อง ?

จำอย่างไรจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ?

.

ตอนอยู่ไทยฉันสอนพิเศษภาษาจีน สอนมาหลายปี

สิ่งที่ทำให้เห็นชัดของปัญหาในระบบการศึกษาหลักมันสะท้อนให้เห็นชัดเจน

ปัญหาของเด็ก เวลาเรียนภาษาจีนในห้องเรียน

มันสะท้อนให้เห็นผ่านการสอนพิเศษตัวต่อตัว

การที่เราสอนตัวต่อตัวกับนักเรียน มันทำให้เราได้เข้าใจเขามากขึ้น

รวมทั้งได้เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องเผชิญในช่วงที่เขาได้เรียนในโรงเรียน

.

ปัญหาของการเรียนการสอนก็คือ การไม่จัดลำดับขั้นของกระบวนการสอน

ให้สอดรับกับตัวผู้เรียน รูปแบบการศึกษาเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

.

เขียนมาถึงนี้คิดว่ายาวพอสมควร ถึงแม้ว่ายังมีสิ่งที่อยากจะเขียนอีกยาวกว่านี้

หลังจากที่ได้ฟังการบรรยายเรื่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการเรียนการสอนภาษาจีนของ NTNU ของสาขาวิชาการเรียนการสอนภาษาจีน ซึ่งเป็นคนละสาขาที่เรียนอยู่ตอนนี้ก็เถอะ แต่ด้วยความที่ว่าตัวเองไปฟังเกือบทุกคณะ ไม่ว่าจะเป็นสาขา ประวัติศาสตร์ศิลป์ของที่นี่ หรือ ของสาขาตัวเองเอเชียตะวันออกศึกษา ก็ไปฟังมาหมด ใช้ชีวิตให้คุ้ม

.

การไปฟังแต่ละครั้ง มันทำให้เราได้คิด และใครครวญกับทุกสิ่งที่ได้เรียนมา

ก็อยากบันทึกไว้ แล้ววันหนึ่งจะย้อนกลับมาดูตัวเอง

แน่นอนว่าสิ่งที่เขียน และบันทึก อาจจะถูกบ้างผิดบ้างก็ว่ากันไป

อย่างไร มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไร ๆ มากขึ้น ดีกว่าการไม่ได้คิดอะไรเลย...

.

ภูมิรพี แซ่ตั้ง

17 พฤศจิกายน 2020